วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2559

หาคำตอบ!!!เทคนิคการปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ แบบมืออาชีพที่พิษณุโลก





ใครๆ ก็รู้ว่า จังหวัดพิษณุโลก เป็นแหล่งผลิตมะม่วงที่ใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ และเป็นหนึ่งในทำเลทองของการปลูกมะม่วงส่งออกที่สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ ไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท ปัจจุบัน แหล่งปลูกมะม่วงที่สำคัญของจังหวัดพิษณุโลกกระจายอยู่ในพื้นที่อำเภอวังทอง เนินมะปราง และวัดโบสถ์ มีเนื้อที่ปลูกมะม่วงไม่ต่ำกว่า 62,030 ไร่ สามารถผลิตมะม่วงได้มากกว่าปีละ 44,000 ตัน ส่วนใหญ่เป็นมะม่วงกินสุกที่นิยมในตลาดส่งออก เช่น น้ำดอกไม้สีทอง น้ำดอกไม้ เบอร์ 4 โชคอนันต์ รวมทั้งมะม่วงกินดิบ เช่น เขียวเสวย ฟ้าลั่น เพชรบ้านลาด ฯลฯ

สร้างชุมชนสวนมะม่วง ที่เข้มแข็งในจังหวัดพิษณุโลก

ปัจจุบัน กลุ่มผู้ปลูกมะม่วงของจังหวัดพิษณุโลกจำนวนมากได้ร่วมมือร่วมใจ ภายใต้ชื่อ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชน” เพื่อพัฒนาการผลิตและการส่งออกมะม่วง ทุกวันนี้พวกเขาเชื่อมโยงเครือข่ายทางธุรกิจกับบริษัทผู้รับซื้อโดยตรง ทำให้สามารถกำหนดราคาซื้อขายได้อย่างยุติธรรม เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่าย สำหรับวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะม่วงที่มีชื่อเสียงเป็นรู้จักกันดี ได้แก่ 

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปรับปรุงคุณภาพมะม่วงส่งออกตำบลพันชาลี หมู่ที่ 16 ตำบลพันชาลี อำเภอวังทอง ที่มีเนื้อที่ปลูกมะม่วงรวมกันกว่า 2,500 ไร่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะม่วงส่งออกบ้านหนองหิน หมู่ที่ 11 ตำบลพันชาลี อำเภอวังทอง มีพื้นที่ปลูกกว่า 3,500 ไร่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมปรับปรุงคุณภาพมะม่วงส่งออกบ้านหนองไม้ยางดำ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านน้อยซุ้มขี้เหล็ก อำเภอเนินมะปราง มีพื้นที่ปลูก 1,500 ไร่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกไม้ผลตำบลหินลาด หมู่ที่ 7 ตำบลหินลาด อำเภอวัดโบสถ์ มีพื้นที่ปลูก 1,000 ไร่ ชมรมผู้ปลูกมะม่วงอำเภอเนินมะปราง หมู่ที่ 4 ตำบลเนินมะปราง อำเภอเนินมะปราง มีพื้นที่ปลูก 2,500 ไร่

คุณบัญญัติ ชาญฟั่น ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะม่วงส่งออกบ้านหนองหิน หมู่ที่ 11 ตำบลพันชาลี อำเภอวังทอง โทร. (089) 532-2255 เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมเกษตรกรปลูกพืชล้มลุก เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง อ้อย แต่ราคาไม่แน่นอน ในปี 2544 เกษตรกรเริ่มหันมาปลูกมะม่วงกันและขายได้ราคา ทางสำนักงานเกษตรอำเภอวังทองได้ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่ม ในชื่อ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะม่วงส่งออกบ้านหนองหิน” โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตควบคู่ไปกับการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพ พร้อมกับสนับสนุนการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็งและประสานงานกับผู้ส่งออก 
ทางกลุ่มมีพื้นที่ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองส่งออกมากกว่า 3,800 ไร่ ในปี 2550-2552 สามารถส่งออกได้ปีละ 1,200 ตัน ปัจจุบัน มีผลผลิตส่งออกมากกว่า 3,000 ตัน ด้านการดำเนินงาน มีคณะกรรมการด้านการควบคุมการผลิตการตลาดและกองทุน สมาชิกมีการฝากออมทรัพย์อย่างต่อเนื่องทุกคน มีบริการให้สมาชิกกู้ยืมเงิน จัดประชุมเป็นประจําเดือน วันที่ 10 ของทุกเดือน

นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังได้สร้างเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะม่วงเพื่อการส่งออก 1. กลุ่มไม้ผลตําบลหินลาด อําเภอวัดโบสถ์ 2. กลุ่มผู้ปลูกมะม่วงบ้านหนองปรือ ตำบลบ้านกลาง อำเภอวังทอง 3. กลุ่มผู้ปลูกมะม่วงบ้านแก่งโสภา ตำบลแก่งโสภา อำเภอวังทอง 4. กลุ่มผู้ปลูกมะม่วงบ้านชัยนาม ตำบลชัยนาม อำเภอวังทอง ปีที่ผ่านมา สามารถรวบรวมมะม่วงส่งออก เป็นมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท

วิสาหกิจชุมชน กลุ่มมะม่วงส่งออก ตำบลชัยนาม

ปี 57 กลุ่มผู้ปลูกมะม่วงบ้านชัยนาม ได้ยกฐานะเป็น “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มมะม่วงส่งออกตำบลชัยนาม” ตั้งอยู่ เลขที่ 205 หมู่ที่ 9 ตำบลชัยนาม อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก โทร. (086) 201-7269 หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ การจัดทําระบบบัญชีกลุ่มวิสาหกิจชุมชน การจัดทําระบบควบคุมสินค้า ให้มีความถูกต้องและสมบูรณ์ การจัดทําฐานข้อมูล ทะเบียนการปลูกมะม่วง การจัดทําระบบบัญชีกลุ่ม บัญชีครัวเรือนให้ถูกต้อง รวมทั้งความรู้ด้านการตลาดและการส่งออก ฯลฯ

คุณบัญญัติ บอกว่า ปัจจุบัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะม่วงส่งออกบ้านหนองหิน ทำหน้าที่เสมือนโบรกเกอร์ รวบรวมผลผลิตส่งขายให้แก่บริษัทผู้ส่งออกหลายราย ทุกวันนี้ความต้องการสินค้าแต่ละตลาดไม่เหมือนกัน สินค้าเกรดเอ ชาวสวนขายได้กิโลกรัมละ 100 กว่าบาท เป็นที่ต้องการของตลาดเกาหลี ที่นิยมมะม่วงผิวสวยไซซ์ใหญ่ ขณะที่ตลาดรัสเซียต้องการบริโภคมะม่วงไซซ์เล็ก ส่วนมะม่วงเกรดรอง ส่งออกไปขายตลาดสิงคโปร์

สำหรับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมะม่วงส่งออกตำบลชัยนาม นับเป็นเครือข่าย อันดับที่ 4 ในการรวบรวมมะม่วงส่งออกของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะม่วงส่งออกบ้านหนองหิน สินค้าหลักของชุมชนแห่งนี้คือ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองและมะม่วงน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 ซึ่งตลาดส่งออกมีความต้องการเป็นจำนวนมาก เพราะมะม่วงชนิดนี้ได้เปรียบคู่แข่งขันในเรื่องรสชาติความอร่อย แถมราคาก็โดดเด่นกว่าคู่แข่งขันในตลาดเดียวกัน 

เมื่อก่อนตลาดลูกค้าหลักคือ ญี่ปุ่น ระยะหลังมีการขยายตลาดใหม่ๆ ซึ่งผู้ซื้อต่างประเทศได้ให้การยอมรับสินค้ามะม่วงไทยมากขึ้น เช่น เกาหลี และประเทศในกลุ่มยุโรป ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงมีรายได้ที่ดีขึ้น รวมทั้งขายสินค้าได้ในราคาที่สูงขึ้น ราคาสินค้ามะม่วงน้ำดอกไม้ เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2557 อยู่ที่กิโลกรัมละ 135 บาท   เดือนมกราคม 2558 ราคามะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง อยู่ที่กิโลกรัมละ 105 บาท หากหน่วยงานภาครัฐจะเข้ามาส่งเสริมเรื่องการปลูกมะม่วงในแหล่งอื่นๆ ก็ควรเน้นปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง โดยไม่ต้องห่วงว่าจะเกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด เนื่องจากมะม่วงที่ปลูกอยู่ทั่วประเทศจะมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดไม่พร้อมกัน ในแต่ละปีแหล่งปลูกมะม่วงในโซนภาคใต้จะเก็บเกี่ยวได้เป็นที่แรก หลังจากนั้นแต่ละพื้นที่จะทยอยเก็บผลผลิตไปเรื่อยๆ ก่อนไปสิ้นสุดที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแหล่งสุดท้าย 

สำหรับพื้นที่แห่งนี้สามารถเก็บผลผลิตได้เป็น 3 ครั้ง คือ ฤดูมะม่วง เริ่มเดือนมีนาคม-เมษายน โดยทั่วไปมะม่วงนอกฤดูของประจวบคีรีขันธ์จะเข้าสู่ตลาดเป็นแห่งแรก ตามด้วยจังหวัดพิษณุโลกเป็นอันดับสอง แต่เนื่องจากจังหวัดพิษณุโลกได้เปรียบในเรื่องสภาพภูมิอากาศ ที่นี่จึงสามารถผลิตมะม่วงนอกฤดูได้ต่อเนื่องถึง 6 เดือนเต็ม  โดยเริ่มเก็บผลผลิตตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป ขณะที่พื้นที่อื่นๆ เช่น เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ เก็บเกี่ยวมะม่วงนอกฤดูได้เพียง 2 เดือน เท่านั้น 

เทคนิคการจัดการ สวนมะม่วงส่งออก

ภายหลังการเก็บเกี่ยว เกษตรกรจะตัดแต่งกิ่ง ให้น้ำและปุ๋ย สูตร 15-15-15 ประมาณ 10-15 วัน เริ่มแทงช่อใบและนับออกไปอีกประมาณ 20 วัน จะเป็นใบเพสลาด เป็นช่วงที่เหมาะสมในการราดสารแพคโคลบิวทราโซลเพื่อกระตุ้นการออกดอก พร้อมกับให้ปุ๋ยทางใบช่วยดึงช่อดอก และต้องคอยระวังปัญหาเพลี้ยไฟ โรคและแมลงศัตรูมะม่วง

เมื่อผลมะม่วงมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว ต้องให้อาหารเสริม ประเภทแคลเซียม โพแทสเซียม สังกะสี สาหร่าย ฯลฯ เมื่อมะม่วงติดผล ขนาดไข่ไก่ หรือประมาณ 10-15 เซนติเมตร ก็จะห่อผลด้วยถุงคาร์บอน เพื่อป้องกันโรคแมลงและให้ผิวมะม่วงสีสวย หลังจากนั้น 40-45 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตมะม่วงจำหน่ายสู่ตลาด

คุณภาพผลผลิตที่ดี ต้องเริ่มจากการจัดการแปลงปลูกอย่างเหมาะสม จากที่เคยไปดูงานสวนมะม่วงในหลายพื้นที่ กล่าวได้ว่า แหล่งปลูกมะม่วงของที่นี่มีการดูแลจัดการที่ดีมาก เพราะเกษตรกรดูแลกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ ทำให้สภาพพื้นดินค่อนข้างโล่งเตียน ลดการสะสมของโรคพืชและแมลง จัดการแปลงได้ง่ายและมีต้นทุนต่ำ เพราะประหยัดค่าสารเคมี   
คุณบัญญัติ บอกว่า ประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ต้นมะม่วงที่ปลูกในย่านนี้จะเริ่มแตกกิ่งและผลิใบสม่ำเสมอ หากดูแลจัดการให้สภาพต้นโปร่ง สมบูรณ์พร้อมและสภาพอากาศถ่ายเทดี การทำมะม่วงนอกฤดูไม่ใช่เรื่องยาก แค่เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการใช้สารเคมีที่จะช่วยบังคับให้ต้นมะม่วงออกช่อได้  โดยทั่วไป การผลิตมะม่วงนอกฤดูสามารถฝืนธรรมชาติได้ไม่เกิน 20% แม้สมาชิกวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ไม่ได้ปลูกในลักษณะสวนเกษตรอินทรีย์ แต่พวกเขาก็ใช้สารเคมีตามมาตรฐานข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้าแต่ละราย  ยกตัวอย่าง เช่น สินค้ามะม่วงที่นำเข้าประเทศญี่ปุ่น จะต้องมีสารไซเปอร์ตกค้างได้ไม่เกิน 0.01 พีพีเอ็ม เป็นต้น

ปัญหาภัยธรรมชาติ เป็นอุปสรรคสำคัญ

การส่งออกมะม่วงในปัจจุบัน มีปัญหาอุปสรรคจากภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรก็พยายามดูแลป้องกันโดยติดตามสถานการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อวางแผนจัดการผลผลิตอย่างเหมาะสม เพื่อลดความสูญเสียให้น้อยที่สุด 

ระหว่างที่เดินชมสวนมะม่วง สังเกตเห็นมะม่วงหลายต้นที่มีปัญหาโรคผลแก้วหรือผลกะเทยบริเวณปลายๆ ช่อมะม่วง จุดเด่นที่สังเกตได้ง่ายของมะม่วงกะเทยก็คือ ผลมีร่องอกและแคระแกร็น ไม่โต บางครั้งอาจจะเหลืองร่วงตั้งแต่ยังเล็ก หรือถ้าโตขึ้นมาได้ขนาดก็จะไม่เกินครึ่งของผลปกติ และมักจะแตกง่าย สาเหตุหลักส่วนใหญ่เกิดจากดอกบานในช่วงสภาพอากาศไม่เหมาะสม เช่น อากาศหนาวหรือร้อนจนเกินไป มีฝนตก หรือสภาพอากาศแห้งเกินไป ทำให้การผสมเกสรไม่สมบูรณ์ ทำให้การสร้างเมล็ดไม่สมบูรณ์ เมล็ดจะไม่เต็มทรง ผลไม่โต และร่วงหล่นในที่สุด เกษตรกรไม่อยากเจอมะม่วงผลกะเทย แต่ผู้บริโภคจำนวนมากโดยเฉพาะตลาดพม่า กลับชอบมะม่วงชนิดนี้เนื่องจากมีผลขนาดเล็ก เนื้อกรอบ รสเปรี้ยวน้อยกว่ามะม่วงเบา 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น